ประวัติ ตำนานหลวงพ่อโสธรลอยน้ำ เมืองแปดริ้ว

ตำนานหลวงพ่อโสธร ลอยน้ำ จ.แปดริ้ว

ตำนานหลวงพ่อโสธรลอยน้ำ

พระพุทธลักษณะพระพุทธโสธร

หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ (พระประจำวันพฤหัสบดี) พุทธศิลป์สมัยอยุธยาตอนปลาย ที่มีทั้งประวัติและตำนานเล่าสิบต่อกันมา ซึ่งตำนานนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆตำนาน ที่เล่าสืบต่อกันมา เป็นตำนานที่ว่า หลวงพ่อโสธรลอยน้ำมา กับพระองค์อื่นอีก 2 องค์

ตำนานหลวงพ่อโสธร

ตำนานหลวงพ่อโสธร ซึ่งไม่ได้กล่าวไว้ว่าใครเป็นผู้สร้างหรือสร้างเมื่อใด มีเรื่องราวที่เล่าขานต่อๆกันมานาน ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ว่าในกาลครั้งนั้น มีชาวบ้านเห็นพระพุทธรูปลอยน้ำมา 3 องค์ ที่แม่น้ำบางปะกง

เมื่อมาถึงบริเวณหนึ่งก็ปรากฏองค์ขึ้น ชาวบ้านบริเวณนั้นพบเข้าก็พากันเอาเชือกมนิลามาฉุดขึ้น แต่ก็เอาขึ้นมาไม่ได้เพราะเชือกขาด ก่อนที่พระทั้งสามองค์จะจมหายไปบริเวณที่พระทั้งสามองค์ลอยทวนน้ำหนีนั้นเรียกว่า สามพระทวน ต่อมาได้เพี้ยนและเรียกว่า สัมปทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจนทุกวันนี้

ต่อมาได้มาผุดขึ้นที่คลองคุ้งให้ชาวบ้านแถวนั้นเห็นอีก ชาวบ้านก็พยายามฉุดขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จอีก สถานที่นั้นเรียกว่า บางพระ มาจนทุกวันนี้ แต่นั้นมาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็ได้สำแดงอภินิหารในคลองเล็กๆ ตรงข้ามกองพันทหารช่างที่ 2 ฉะเชิงเทรา บริเวณนั้นเรียกว่า แหลมลอยวน คลองนั้นได้นามว่า คลองสองพี่น้อง ภายหลังก็เงียบไป

องค์หนึ่ง ลอยไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง และไปปรากฏขึ้นที่สมุทรสงคราม ชาวประมงได้พร้อมใจกันอาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลมหรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนชาวสมุทรสงคราม เรียกกันว่า หลวงพ่อบ้านแหลม มาจนทุกวันนี้

องค์ที่สอง ลอยวนไปวนมาและมาผุดขึ้นหน้า วัดหงษ์ เล่ากันว่า ที่วัดนี้เดิมมีเสาใหญ่มีหงษ์ทำด้วยทองเหลืองอยู่บนยอดเสานั้น จึงได้ชื่อว่าวัดหงษ์ ต่อมาหงษ์ที่ยอดเสาหักตกลงมาเสียชำรุด ทางวัดจึงเอาธงไปติดไว้ที่ยอดเสาแทนรูปหงษ์ จึงได้ชื่อว่าวัดเสาธง แล้วต่อมาก็เกิดมีพายุพัดเสานี้หักลงส่วนหนึ่ง จึงได้ชื่อว่าวัดเสาทอน และต่อมาชื่อนี้ได้กลายไปเป็นวัดโสธร

ประชาชนพลเมืองจำนวนมากได้พากันหลั่งไหลมาอาราธนาฉุดขึ้นฝั่งแต่ก็ไม่สำเร็จ ขณะนั้นมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษผู้รู้คนหนึ่งสำเร็จไสยศาสตร์หรือเทพไสยรู้หลักและวิธีอาราธนา จึงได้ทำพิธีปลูกศาลเพียงตาบวงสรวง กล่าวคำอัญเชิญชุมนุมเทวดาอาราธนา และได้ใช้สายสิญจน์คล้องที่พระหัตถ์ของพระพุทธรูปก่อนจะค่อยฉุดลากขึ้นมาบนฝั่ง พระพุทธรูปจึงเสด็จขึ้นมาบนฝั่งเป็นที่ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งของชาวเมือง จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ในพระวิหารวัดโสธร และเรียกนามว่า พระพุทธโสธร หรือ หลวงพ่อโสธร ตั้งแต่นั้นมา

องค์ที่สาม ลอยไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาประชาชนละแวกนั้นก็หลั่งไหลมาอาราธนาขึ้นฝั่งฉุดขึ้นเป็นการใหญ่ แต่ก็ไม่สำเร็จ เล่ากันว่ามีประชาชนพากันมาฉุดนับได้ถึงสามแสนคน จึงเรียกสถานที่นั้นว่า สามแสน ภายหลังจึงเพี้ยนมาเป็น สามเสน และเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ จากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ลอยไปผุดขึ้นที่คลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนจึงได้ได้อาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดพลับพลาชัยชนะสงครามหรือวัดบางพลีใหญ่ตราบจนทุกวันนี้ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากอีกรูปหนึ่งของเมืองไทย คือ หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่

บางตำนานได้เล่าว่ามีพระพุทธรูปพี่น้องอยู่ห้าองค์ อีกสององค์คือ หลวงพ่อไร่ขิง วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และ หลวงพ่อ(ทอง)เขาตะเครา วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี และบางพื้นที่เล่าเป็นพระพุทธรูปพี่น้องหกองค์ โดยเพิ่ม หลวงปู่หิน วัดอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ด้วย

มีเรื่องราวที่เล่าขานกันมานานยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ว่าในกาลครั้งนั้น มีชาวบ้านเห็นพระพุทธรูปลอยน้ำมา 3 องค์ ที่แม่น้ำบางปะกง พอมาถึงบริเวณสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกชื่อว่าอะไรก็ไม่ประจักษ์ ชาวบ้านจึงให้ช่วยกันเอาเรือออกไปอัญเชิญขึ้นมาบนฝั่ง ชาวบ้านช่วยกันยกขึ้นเรือแต่ไม่สามารถยกขึ้นมาได้สำเร็จ จึงเปลี่ยนวิธีเป็นการนำเชือกเส้นใหญ่คล้องกับองค์พระทั้ง 3 องค์ อย่างแน่นหนา แล้วให้ชาวบ้านช่วยกันชักลากเอาขึ้นมาบนฝั่ง แต่ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ แม้แรงชาวบ้านที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมายก็ไม่อาจจะฉุดดึงเอาองค์พระทั้ง 3 องค์ ที่ลอยปริ่มๆ น้ำอยู่ขึ้นมาได้ จนกระทั่งเชือกขาดก็ยังไม่สำเร็จ

ประกอบกับเกิดปาฏิหาริย์ กระแสน้ำปั่นป่วนขึ้นมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ทำให้พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ จมหายลับสายตาไปท่ามกลางความเสียดายของชาวบ้านทั้งหมด เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านต่างพากันยกมือไหว้ท่วมศีรษะ บางคนก็พูดว่าไม่มีบุญเพียงพอที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3องค์ ขึ้นมาได้

ผู้คนสมัยนั้นโจษขานกันต่างๆ นานา พากันคิดว่าอย่างนั้นคิดว่าอย่างนี้ ไปจนบางทีก็เลยเถิดไปไหนต่อไหน บ้างก็ว่า เทวดาฟ้าดินไม่โปรด หลวงพ่อก็ไม่ยอมมาประดิษฐานอยู่บนฝั่งน้ำ หากอัญเชิญขึ้นมาได้แล้วก็จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดทันที เรื่องราวการโจษขานกันไปมากมายนี้เลยทำให้ชาวบ้านพากันเรียกสถานที่ที่พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ มาสำแดงปาฏิหาริย์ลอยวนเวียนไปมาว่า “สามพระทวน” เรียกกันเรื่อยไปนานเข้าก็เพี้ยนกลายเป็น “สัมปทวน” กันไปในที่สุด

จากนั้นต่อมาพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ที่ลอยน้ำมาในแม่น้ำบางปะกงก็ล่องลอยกันไปเรื่อยๆ องค์หนึ่งลอยไปทางบางพลี ไปผุดขึ้นที่ลำคลองวัดบางพลี ชาวบ้านอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานเอาไว้ที่วัดบางพลีได้โดยง่าย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพระพุทธรูปองค์นี้ท่านต้องการจะประดิษฐานอยู่ ณ ที่ตรงนี้ก็ได้

หลังจากนั้นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง คือ หลวงพ่อโสธรได้แสดงอภินิหารลอยมาขึ้นที่หน้าวัดโสธร ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า วัดหงษ์ ชาวบ้านช่วยกันยกและฉุดขึ้นจากน้ำ แต่ไม่สามารถนำขึ้นได้ จนมีอาจารย์ผู้หนึ่งรู้วิธีอัญเชิญ โดยตั้งพิธีบวงสรวงใช้สายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์ จนสามารถอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานในวิหารได้สำเร็จ ในราว พ.ศ.2313

ในการนี้จึงจัดให้มีการสมโภชฉลององค์หลวงพ่อ หลังจากท่านได้ประทับที่วัดหงส์เรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าจะขนานนามชื่อของหลวงพ่อว่าอย่างไร แต่เข้าใจว่าท่านคงต้องการชื่อเดิมของท่าน คือ “พระศรี” เพราะเป็นชื่อดั้งเดิมขณะประทับที่วัดศรีเมือง ทางภาคเหนือ ประกอบกับมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าหลวงพ่อมีความ ประสงค์จะใช้นามว่า “หลวงพ่อพุทธศรีโสธร” เพราะได้เกิดพายุพัดเอาหงษ์ที่ตั้งอยู่บนยอดเสาหักลงมา ชาวบ้านจึงเปลี่ยนหงษ์เป็นเสาธง แล้วเรียกชื่อวัดหงษ์เป็นวัดเสาธง

ต่อมาไม่นานก็เกิดพายุพัดเสาธงหักทอนลงอีก ชาวบ้านจึงเรียกวัดเสาธง ว่า “วัดเสาธงทอน” ภายหลังเห็นว่าไม่ไพเราะ จึงได้พร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดโสธร” และเรียกนามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อโสธร” ต่อมาวัดโสธรได้รับการเสนอแต่งตั้งให้เป็นวัดหลวง ได้ชื่อว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” และขนานนามหลวงพ่ออย่างเป็นทางการว่า “หลวงพ่อพุทธโสธร

ประวัติพระ หลวงพ่อโสธร

บทสวดบูชาหลวงพ่อโสธร

สถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อโสธร

ปัจจุบันหลวงพ่อโสธร ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถหลวง วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

รูปภาพ ตำนานหลวงพ่อโสธร

  • รูปภาพ ตำนานหลวงพ่อโสธร

เขียนคอมเมนท์